เกษตรเรื่องราวน่าสนใจ

เทคนิคการปลูกดาวเรืองจากเมล็ดพันธุ์ดาวเรือง ตัดดอกขาย สร้างรายได้ ไม่ต้องพึ่งโรงงานอุตสาหกรรม

ตอนที่ 1 การเตรียมเพาะเมล็ดดาวเรือง และ วิธีการเพาะเมล็ดดาวเรือง

วัสดุอุปกรณ์

  1. ถาดเพาะ 200 หรือ 288 หลุม
  2. พีทมอส (วัสดุเพาะ)
  3. เมล็ดพันธุ์ดาวเรือง
  4. Forcep (คีมคีบ)
  5. ตะกร้าสำหรับกลบเมล็ดดาวเรือง
  6. ถังพ่นสารเคมี
  7. สารป้องกัน และกำจัดเชื้อรา (โพรพาโมคาร์บ หรือ เมทาแลกซิล)
  8. ถุงมือ (ป้องกันสารเคมี)

วัสดุเพาะต้นกล้าดอกดาวเรืองที่แนะนำเป็นวัสดุเพาะที่ผ่านการทดลองใช้แล้ว โดยมีคุณสมบัติ คือ มีความละเอียดปานกลาง ร่วนซุย ระบายน้ำ และระบายอากาศได้ดี เหมาะสมอย่างยิ่งต่อการเพาะเมล็ดพันธุ์



วิธีการเพาะเมล็ดดาวเรือง

  1. เตรียมน้ำสำหรับผสมวัสดุเพาะดอกดาวเรืองโดยผสม โพรพาโมคาร์บ อัตรา 0.4 ซีซี ต่อน้ำ 1 ลิตร หรือ เมทาแลกซิล 1 กรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร เพื่อป้องกันโรคเน่าคอดิน
  2. ผสมน้ำที่เตรียมไว้กับพีทมอส โดยค่อยๆ เติมน้ำทีละนิด คลุกเคล้าให้เข้ากัน จากนั้นลองบีบวัสดุเพาะเพื่อทดสอบว่า น้ำเข้ากับวัสดุเพาะได้ดีหรือไม่ หากบีบแล้วมีน้ำออกมาเล็กน้อยตามร่องมือ และวัสดุเพาะเกาะกันเป็นก้อนดีถือว่าใช้ได้ หากมีน้ำไหลออกมามากเกินไป ให้ผสมวัสดุเพาะเพิ่ม หรือไม่มีน้ำซึมออกมาแสดงว่าน้ำน้อยเกินไป ให้เพิ่มน้ำและบีบทดสอบอีกครั้ง

3. นำวัสดุเพาะดอกดาวเรืองที่เตรียมไว้ใส่ถาดเพาะ 200 หรือ 288 ให้เต็มหลุม กระแทก ถาดเพาะ 1 ครั้งเพื่อให้วัสดุเพาะดาวเรืองลงถึงก้นหลุม เติมวัสดุเพาะดาวเรืองให้เต็มและปาดให้เรียบพอดีกับหลุม

4. นำถาดเพาะดอกดาวเรืองเปล่ามาวางบนถาดเพาะที่ใส่วัสดุเพาะแล้ว จากนั้นกดถาดเปล่า เพื่อทำหลุม โดยหลุมที่กดควรมีขนาดลึกพอดีกับเมล็ด ประมาณ 0.5 ซม.

5. ทำการหยอดเมล็ดพันธุ์ดาวเรือง 1 เมล็ดต่อ 1 หลุม

6. นำวัสดุเพาะดอกดาวเรืองที่ยังไม่ได้ผสมน้ำมาใส่ตะกร้าเพื่อร่อนกลบเมล็ดดาวเรือง โดยกลบให้มิดเมล็ดดาวเรือง เนื่องจากดาวเรืองไม่ต้องการแสงในการงอก และเป็นการรักษาสภาพความชื้นในการงอกของเมล็ดดาวเรือง

7. พ่นสารเคมี โพรพาโมคาร์ อัตรา 1 ซีซี ต่อ น้ำ 1 ลิตร หรือ เมทาแลกซิล1 กรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร พ่นให้ทั่วถาดเพาะดาวเรืองเพื่อป้องกันโรคเน่าคอดินอีกครั้ง

8. นำถาดเข้าไปในบริเวณที่พรางแสง 80% – 90% และรักษาความชื้นโดยการพ่นน้ำ อย่าให้ถาดเพาะแห้งจนเกินไปเพราะจะทำให้เมล็ดดาวเรืองไม่งอกหรือแฉะจนเกินไป อาจทำให้เป็นโรคเน่าคอดินในระยะงอกของเมล็ดได้

ตอนที่ 2 การดูเเลต้นกล้าดาวเรือง การย้ายปลูกต้นกล้าดาวเรือง การเตรียมแปลงดาวเรือง การย้ายปลูก และวิธีดูแลหลังย้ายปลูกดอกดาวเรือง

การดูแลต้นกล้าดอกดาวเรือง แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้

  • ระยะที่ 1 เป็นระยะที่ต้นกล้าเริ่มงอก

หลังจากเพาะเมล็ดดอกดาวเรืองแล้ว 3-5 วัน ใน ระยะนี้ควรรักษาความชื้นโดยการพ่นน้ำและนำไปในที่ พรางแสง 50%

  • ระยะที่ 2 เป็นระยะใบเลี้ยงเริ่มแผ่

โดยใช้เวลาจากระยะแรก 1-2 วัน ควรนำออกแดดจัดเพื่อป้องกันต้นกล้าดาวเรืองยืดเข้าหาแสง ในช่วงนี้ 1-2 วันควรรักษาความชื้นไว้อยู่ เนื่องจากต้นกล้ายังเล็ก เมื้อต้นกล้าแข็งแรงควรปล่อย ให้ผิววัสดุปลูกแห้งบ้างเพื่อป้องกันโรคเน่าคอดิน และจะทำให้ต้นกล้าดาวเรืองแข็งแรงกว่าการให้น้ำตลอดเวลา ในระยะนี้ยังไม่ควรให้ปุ๋ยเนื่องจากต้นกล้าดาวเรืองยังมีอาหารสะสมอยู่ และในตัววัสดุเพาะเองมีการใส่ธาตุอาหารไว้ในระดับหนึ่งแล้ว

  • ระยะที่ 3 เป็นระยะที่เริ่มมีใบจริง 1 คู่

เริ่มให้ปุ๋ยทางน้ำโดยผสมปุ๋ยสูตร 15-0-0 (แคลเซียมไนเตรท) หรือปุ๋ย สูตร 20-20-20 อัตรา 3 กรัม ต่อน้ำ 10 ลิตร 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ปุ๋ย 46-0-0 หรือ ยูเรีย เพราะจะทำให้ต้นกล้าดาวเรืองอ่อนแอ

หมายเหตุ : ความชื้นควรปล่อยให้ผิวหน้าวัสดุปลูกแห้ง แต่ต้นไม่เหี่ยว จึงจะทำการรดน้ำหรือให้ปุ๋ยจนชุ่ม

  • ระยะที่ 4 เป็นระยะที่เริ่มมีใบจริง 2 คู่

เพิ่มการให้ปุ๋ย โดยให้ปุ๋ยสูตร 15-0-0 หรือ 20-20-20 อัตรา 6 กรัม ต่อน้ำ 10 ลิตร

หมายเหตุ : ความชื้นเหมือนกันกับระยะที่ 3

การเตรียมแปลง การย้ายปลูก และวิธีการดูแลหลังย้ายปลูกดาวเรือง

การไถพรวน
ควรไถลึกประมาณ 30 – 50 ซม. และหว่านปูนขาวโดโลไมท์อัตรา 200 – 400 กก./ไร่ เพื่อปรับสภาพดินตากทิ้งไว้ 4 – 5 วัน จากนั้นตีพรวนดินให้ละเอียด และขึ้นแปลงปลูกดาวเรืองขนาด 1.20 เมตร สำหรับแปลงคู่ และ 40 – 50 ซม. สำหรับแปลงเดี่ยว

การใส่ปุ๋ยรองพื้น
ก่อนปรับแปลงปลูกควรเพิ่มธาตุอาหารให้เป็นไปตามความต้องการของดอกดาวเรือง ในปริมาณที่เพียงพอ เช่น หว่านปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 25 – 30 กก./ไร่ ถ้าหากดินที่ทำการปลูกดาวเรืองเป็นดินเหนียวควรเพิ่มอินทรีย์วัตถุลงไป เช่น ปุ๋ยคอก ขี้ไก่ ขุ๋ยมะพร้าว และ อื่นๆ เมื่อทำการหว่านปุ๋ย หรือเติมอินทรีย์วัตถุลงไปแล้วให้คลุกเคล้าและเกลี่ยแปลงดอกดาวเรืองให้เรียบ

วิธีการย้ายปลูกดาวเรือง

ควรย้ายต้นกล้าดาวเรืองที่มีอายุไม่เกิน 20 วัน หรือมีจำนวนใบจริง 2-3 คู่ ไม่ควรย้ายต้นกล้าดาวเรือง ที่มีอายุมากเกินไปเพราะระบบรากจะแผ่กระจายได้ช้า เนื่องจากระบบรากนั้นแก่เกินไป ดังนั้นควรย้ายกล้าดาวเรืองระหว่าง 15-20 วัน จะทำให้รากของต้นกล้าดาวเรืองมีการพัฒนาได้ดีกว่า การหาอาหารของรากก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ช่วงเวลาในการย้ายปลูกดาวเรือง
ช่วงเวลาที่เหมาะสมแก่การย้ายปลูกกล้าดาวเรืองคือช่วงเย็น (แดดไม่แรง) เพื่อช่วยลดการสูญเสียน้ำของต้นกล้าส่งผลให้ต้นกล้าดอกดาวเรืองมีการตั้งตัวได้ดีหลังการย้ายปลูก

ระยะที่เหมาะสมต่อการปลูกดาวเรือง
ระยะปลูกดอกดาวเรืองในแต่ละฤดูกาลจะมีความแตกต่างกันตามความเหมาะสม ดังนี้

  • ฤดูร้อน และ ฤดูหนาว ระยะ 35-40 ซม. X 35-40 ซม. แนะนำให้ปลูกแถวคู่ จะให้ผลดีกว่าแถวเดี่ยว เนื่องจากแถวคู่จะช่วยเก็บความชื้นในดินได้ดีกว่าแถวเดี่ยว
  • ฤดูฝน ระยะ 50 ซม. X 50 ซม. แนะนำให้ปลูกแถวเดี่ยว เนื่องจากจะสามารถช่วยลดการเกิดโรคพืชได้ ความลึกของหลุมประมาณ 4-5 ซม. และพยายามปลูกต้นกล้าดาวเรืองให้ตั้งตรง

การให้น้ำ
ช่วงหลังการย้ายปลูกดอกดาวเรืองควรให้น้ำสม่ำเสมอจนต้นฟื้นตัว ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นควรรักษาความชื้นในดินให้เหมาะสมไม่แห้งจนต้นดอกดาวเรืองเหี่ยว และไม่แฉะหรือน้ำขังเป็นเวลานานเกินไป หากดินขาดความชื้นจะทำให้แมลงพวกเพลี้ยไฟ ไรแดง ระบาดได้ง่าย และหากดินมีน้ำขังหรือแฉะจนเกินไปก็จะทำให้เกิดโรคได้ง่ายเช่นกัน

การให้ปุ๋ย
แนะนำให้ละลายน้ำรดเพราะพืชจะสามารถนำไปใช้ได้เลย อัตรา 1 กก. /น้ำ 100 ลิตร 1 ครั้งต่อสัปดาห์

หมายเหตุ – ควรหลีกเลี่ยงปุ๋ยสูตร 46-0-0 , 25-7-7 หรือพวกแอมโมเนียม เพราะจะทำให้เป็นโรคไส้กลวง ในช่วงฤดูฝน ให้ธาตุอาหารรอง เช่น แคลเซียม, โบรอน หรือธาตุอาหารอื่นที่จำเป็น



 

วิธีการดูเเลหลังย้ายปลูกดาวเรือง

การกลบโคน
การกลบโคนต้นถือเป็นสิ่งสำคัญในการปลูกดาวเรือง เนื่องจากการกลบโคนจะช่วยให้ดาวเรืองแตกรากใหม่ออกมาได้มากขึ้น ทำให้ดาวเรืองสามารถหาอาหารได้มากขึ้น การเจริญเติบโตก็มากขึ้นตามไปด้วย ควรกลบโคนอย่างน้อย 2 ครั้ง ในช่วงหลังเด็ดยอดและก่อนออกดอก โดยการโรยปุ๋ยเม็ดสูตร 15-15-15 และทำการกลบโคนให้ชิดกับข้อใบคู่ล่างสุด

 

การเด็ดยอด
ควรทำการเด็ดยอดดอกดาวเรืองหลังการย้ายปลูกประมาณ 10 – 15 วัน ต้องมีใบจริงอย่างน้อย 3 คู่ เด็ดยอดออก 1 คู่ โดยใช้มือด้านหนึ่งจับข้อที่ต้องการเด็ด และโน้มกิ่ง ด้านบนลงจนหักชิดข้อที่จับ ช่วยในการแตกทรงพุ่ม ของลำต้นและความสูงให้สม่ำเสมอกัน แต่ดาวเรือง ที่ทำการเด็ดยอดจะทำให้การออกดอกช้าลงประมาณ 1 สัปดาห์ ในช่วงวันสั้นหรือฤดูหนาว แนะนำให้เด็ดยอดเพื่อให้ลำต้นสมบูรณ์แข็งแรง ไม่ออกดอกเร็วจนเกินไป

 

การจัดการเพื่อให้ดาวเรืองออกดอกต่อเนื่อง

  • ตัดดอกที่เสียออกจากแปลงปลูก
  • ให้ความชื้นสม่ำเสมอ
  • ให้ธาตุอาหารรอง เช่น แคลเซียม โบรอน แมกนีเซียม สังกะสี หรือธาตุอาหารอื่นที่จำเป็น